การรักษาด้วยความร้อนตื้น (Superficial Heat)
การรักษาด้วยความร้อนตื้น หมายถึง วิธีการให้ความร้อนใดๆที่ทำให้อุณหภูมิของเนื้อเยื่อในระดับความลึกจากผิวหนังน้อยกว่า 1 เซนติเมตร ร้อนถึงระดับอุณหภูมิที่มีผลในการรักษา คือ 39 - 44 องศาเซลเซียส
ชนิดของการรักษา
1. การนำความร้อน คือ การรักษาด้วยความร้อนโดยให้วัตถุกำเนิดความร้อนสัมผัสกับส่วนที่ต้องการการรักษา เช่น กระเป๋าน้ำร้อน แผ่นร้อนไฟฟ้า เป็นต้น
2. การพาความร้อน คือ การรักษาด้วยความร้อนที่เกิดจากแก๊ส หรือของเหลวเป็นตัวพาความร้อนส่งต่อให้กับบริเวณที่ต้องการรักษา เช่น การอบด้วยไอน้ำร้อน การแช่น้ำอุ่น เป็นต้น
3. การแผ่รังสีความร้อน คือการกระจายความร้อนจากแหล่งกำเนิดต้นตอโดยตรง โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง
ผลทางสรีรวิทยาของความร้อน
1. เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด
2. เกิดการแลกเปลี่ยนสารอาหารผ่านหลอดเลือดฝอยมากขึ้น
3. เกิดผลของการลดระดับความเจ็บปวด จากการกระตุ้นเส้นประสาทที่รับความรู้สึกร้อนและเย็น แทนเส้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด
4. นำมาใช้ลดความเจ็บปวดก่อนใช้เทคนิคทางกายภาพบำบัด เช่น การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวข้อต่อ
5. ลดความเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
6. เพิ่มการทำงานของปฏิกริยาเคมีในเซลล์ เพิ่มอัตราการใช้ออกซิเจนของเซลล์ และทำให้สารอาหารไหลเวียนไปเลี้ยงเซลล์มากขึ้น
7. เพิ่มความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน แต่ควรทำร่วมกับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อผลที่ถาวรมากขึ้น
หลักการทั่วไปในการรักษา
- ระยะเวลาในการรักษาด้วยความร้อนจะใช้เวลา 15 - 30 นาที เพื่อให้เกิดผลทางสรีระวิทยาที่กล่าวไว้ข้างต้นได้อย่างมีประสิทธภาพ และลดอัตราการเกิดอันตรายจากการได้รับความร้อนที่นานเกินไป
- การรักษาพื้นที่บริเวณกว้าง นิยมใช้ระดับความร้อนที่น้อย คือความร้อนที่ทำให้มีความรู้สึกระดับอุ่นสบาย
- การรักษาพื้นที่บริเวณแคบ นิยมใช้ระดับความร้อนมาก คือความร้อนที่ทำให้มีความรู้สึกอุ่นจนถึงร้อน
ข้อบ่งชี้
1. ภาวะอาการปวด
2. มีการยึดรั้งของเนื้อเยื่อ ต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นของคอลลาเจนในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
3. ภาวะมีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
4. ต้องการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและส่งเสริมการซ่อมสร้างของเนื้อเยื่อ
5. ต้องการเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อ
6. ต้องการเพิ่มความผ่อนคลายของร่างกาย
ข้อห้าม
1. ภาวะหลังได้รับอันตรายที่มีเลือดออกหรืออาการบวม
2. ภาวะโรคหลอดเลือดดำอุดตัน (Deep vein thrombosis)
3. บริเวณที่การไหลเวียนเลือดผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดรอบนอก ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
4. ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเส้นประสาทรับความรู้สึก
5. บริเวณที่มีความรู้สึกลดลง
6. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรายงานความรู้สึกเกี่ยวกับอุณหภูมิได้อย่างถูกต้อง เช่น ผู้ป่วยสมองเสื่อม ผู้ป่วยที่มีปัญหาการสื่อสาร หรือผู้ป่วยทางจิตเวช
7. ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
8. กรณีใช้แผ่นร้อนไฟฟ้าหรือกระเป๋าน้ำร้อน ไม่ใช้ในกรณีที่มีการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง และในโรคผิวหนัง