การรักษาด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound)
คลื่นอัลตราซาวด์ หรือคลื่นเหนือเสียง เป็นคลื่นที่มีการสั่นสะเทือนของพลังงานกลเช่นเดียวกับคลื่นเสียง โดยความถี่ของคลื่นที่ใช้ในทางกายภาพบำบัด จะอยู่ในช่วงความถี่ 0.5-3 เมกะเฮิรตซ์ และความเข้ม 0-3 วัตต์/ตารางเซนติเมตร คลื่นอัลตราซาวด์จะสามารถลงลึกไปยังชั้นเนื้อเยื่อได้ 2-4 เซนติเมตร
กลไก
1. คลื่นอัลตราซาวด์สามารถเพิ่มความร้อนให้กับเนื้อเยื่อ
2. Cavitation คือ การเกิดการสั่นและการหด ขยาย ของฟองแก๊สเล็กๆในเนื้อเยื่อ
3. Acoustic streaming เป็นการเคลื่อนที่ของของเหลวรอบๆฟองแก๊ส (Cavitation)
4. Micromassage คือ การนวดแบบละเอียดอ่อน ที่เกิดจากการสั่นของของเหลวในร่างกายเมื่อได้รับคลื่นอัลตราซาวด์
ผลของคลื่นอัลตราซาวด์ที่นำมาใช้ในทางกายภาพบำบัด
1. เร่งกระบวนการซ่อมสร้างและลดระยะเวลาการอักเสบ ทำให้กระบวนการซ่อมสร้างเนื้อเยื่อเข้าสู่ระยะถัดไป คือระยะเจริญงอกงามได้เร็วขึ้น
2. กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน เร่งการสมานตัวของแผล เพิ่มความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อคอลลาเจน
3. เร่งการเจริญใหม่ของเส้นเลือดที่มีการบาดเจ็บ
4. ช่วยให้แผลเป็นที่เกิดจากการบาดเจ็บแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
5. เพิ่มระดับกั้นความเจ็บปวดให้สูงขึ้น
6. กระตุ้นการแลกเปลี่ยนของสารผ่านเยื่อหุ้มเซลล์
7. ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
ข้อบ่งชี้
1. เนื้อเยื่อที่มีการบาดเจ็บ อักเสบ หรือต้องการการเร่งกระบวนการซ่อมสร้าง
2. บริเวณที่มีอาการปวด
3. บริเวณที่มีอาการบวม
4. ต้องการเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อ
ข้อห้าม
1. บริเวณ หรือบริเวณใกล้เคียงของร่างกายที่มีความเจริญเติบโตผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีประวัติหรือในครอบครัวมีประวัติเป็นเนื้องอก ถุงน้ำ หรือมะเร็ง
2. บริเวณที่มีอาการปวด แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าอาการปวดนั้นเกิดจากสาเหตุใด
3. ส่วนของเนื้อเยื่อร่างกายที่ได้รับการฉายรังสี
4. บริเวณที่มีการฝังโลหะ พลาสติก หรือ Methylmethacrylate Cement
5. บริเวณหลังส่วนล่าง และบริเวณท้องของสตรีมีครรภ์
6. บริเวณข้อต่อในเด็กที่ยังไม่หยุดเจริญเติบโต
7. บริเวณเบ้าตา
8. บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์
9. บริเวณหัวใจ และบริเวณใกล้เคียงหัวใจ ในผู้ที่มีเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker)
10. บริเวณเหนือต่อตำแหน่งที่มีลิ่มเลือด หรือก้อนเลือดที่อยู่ในหลอดเลือด
11. ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางระบบสมองหรือไขสันหลัง ที่ไม่สามารถสื่อสารได้
12. บริเวณที่มีการผ่าตัดนำชิ้นส่วนของกระดูกสันหลังออก (Laminectomy)
ข้อควรระวัง
1. ผู้ที่มีการรับรู้ความรู้สึกผิดปกติ
2. บริเวณที่มีกระดูกหัก และยังไม่ประสาน ควรใช้ความเข้มต่ำในการใช้อัลตราซาวด์
3. บริเวณใกล้เคียงที่มีการผ่าตัดเสริมเต้านม