การกระตุ้นไฟฟ้า ES (Electrical Stimulations)
ไฟฟ้าเป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในทางกายภาพบำบัด ไฟฟ้าสามารถทำให้เกิดผลต่อเนื้อเยื้อต่างๆของร่างกายได้ โดยเฉพาะเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ขึ้นกับ ชนิดของกระแสไฟฟ้า ความเข้มของกระแสไฟฟ้า ความถี่ของกระแสไฟฟ้า ตำแหน่งหรือบริเวณที่ติดขั้วไฟฟ้า และขนาดขั้วไฟฟ้า เป็นต้น
กลไกการรักษา
ตามปกติร่างกายของเราจะใช้โปรตีนในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย โดยโปรตีนจะถูกสังเคราะห์เพิ่มมากขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้นไฟฟ้า รวมทั้งประจุไอออน (เช่น Na+ , Ca++ , K+ ,Mg++) เมื่อถูกเหนี่ยวนำด้วยพลังงานไฟฟ้าจากภายนอก จะไปเร่งขบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) และเร่งขบวนการลำเลียงสารอาหารเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเส้นประสาทซึ่งตามปกติจะสามารถถูกเร้าต่อเมื่อมีกระแสไฟฟ้าผ่าน โดยเมื่อได้รับพลังงานไฟฟ้าจากภายนอก จะสามารถเร้าเส้นประสาทที่อยู่ส่วนปลายด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าผ่านผิวหนัง ทำให้เกิดการตอบสนองการตื่นตัวของเส้นประสาทได้
โดยทั้งนี้ขึ้นกับ ชนิดของกระแสไฟฟ้า ความเข้มของกระแสไฟฟ้า ความถี่ของกระแสไฟฟ้า ตำแหน่งหรือบริเวณที่ติดขั้วไฟฟ้า และขนาดขั้วไฟฟ้า เป็นต้น
ประโยชน์
- เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อที่มีเส้นประสาทไปเลี้ยง
- เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทไปเลี้ยง มีการบาดเจ็บของเส้นประสาท หรือเกิดการติดเชื้อของเส้นประสาท ให้ทำหน้าที่ได้
- เพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื้อ
- เพื่อควบคุมการบวม
- เพื่อช่วยการเคลื่อนไหว หรือ เลียนแบบการเคลื่อนไหวในผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เอง
- เพื่อลดอาการปวด
- เพื่อผลักยาหรือสารเข้าสู่เซลล์
IF (Interferential Stimulation)
คือ กระแสไฟฟ้าสลับ (Sinusoid current) ที่มีความถี่ปานกลาง 2 หรือ 3 ความถี่ เมื่อปล่อยผ่านเข้าไปในเนื้อเยื้อจะเกิดการแทรกสอดของกระแส ทำให้เกิดกระแสใหม่ที่มีแอมพลิจูด (Amplitude) ไม่คงที่ และความถี่ที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถใช้ลดปวด รวมทั้งคลายกล้ามเนื้อบริเวณที่ลึกได้
ประโยชน์ของการรักษา
- ลดปวด
- คลายกล้ามเนื้อ (Relaxation of tissue)
- เพิ่มการไหลเวียนโลหิต
- เพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดดำ และน้ำเหลือง
- ลดอาการบวม
- กระตุ้นการซ่อมแซมแผล (Wound healing)
ข้อบ่งชี้
- ผู้ป่วยที่มีอาการปวด
- ผู้ป่วยที่มีอาการปวดจาก Reflex sympathetic dystrophy เช่น Shoulder hand syndrome
- ผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อเกร็งตัว (Muscle spasm)
- กล้ามเนื้อฝ่อลีบ (Muscle atrophy) จากการไม่ได้ใช้งาน โดยที่ยังมีเส้นประสาทมาเลี้ยงตามปกติ
- ฝึกเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้ใช้งานนาน
ข้อห้าม
- บริเวณทรวงอกในผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker)
- บริเวณ Phrenic nerve เพราะกระแสไฟฟ้าอาจไปรบกวนการหายใจ
- บริเวณที่มีเครื่องกระตุ้นกระเพาะปัสสาวะ
- บริเวณ Carotid Sinus
- บริเวณที่เป็นโรคหลอดเลือดรอบนอก เช่น ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน(Venous thrombosis) และหลอดเลือดดำอักเสบ (Thrombophlebitis)
- บริเวณที่เป็นเนื้องอก และโรคติดเชื้อ
- บริเวณลำตัวของสตรีมีครรภ์
- ผู้ป่วยที่มีความดันสูงมาก หรือต่ำมาก
ข้อควรระวัง
- บริเวณใกล้ทรวงอก
- ในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันสูง หรือต่ำ
- บริเวณแขน/ขา ของสตรีมีครรภ์
- บริเวณที่มีไขมันมาก
- ผู้ป่วยที่ไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้