การดึงกระดูกสันหลัง (Traction)
เทคนิค
การดึงกระดูกสันหลังเป็นวิธีการรักษาทางกายภาพบำบัดที่ส่งผลต่อกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อ ทั้งในเรื่องเพิ่มมุมการเคลื่อนไหวของข้อต่อ หรือทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อได้ โดยสามารถทำได้ด้วยแรงดึงของผู้รักษา (Manual Traction) และการดึงด้วยเครื่อง (Mechanical Traction) ซึ่งการดึงทั้งสองแบบก็มีข้อดีและข้อกำจัดที่ต่างกันออกไป
ในส่วนของการดึงด้วยมือนั้นสามารถจัดตำแหน่งในการดึงเพื่อให้ได้ผลของข้อต่อที่ต้องการ แต่มีข้อกำจัดในเรื่องปริมาณแรงที่ต้องการดึง ส่วนการดึงด้วยเครื่องมีข้อดีตรงที่สามารถจัดปริมาณแรงที่ต้องการได้ปริมาณมากและตั้งระยะเวลาที่ต้องการได้
ข้อบ่งชี้
- การกดทับรากประสาท
- การเคลื่อนไหวของข้อต่อลดลงจากภาวะ Dysfunction หรือความเสื่อม
- ความเจ็บปวดข้อต่อกระดูกสันหลัง (Facet joint)
- การเกร็งของกล้ามเนื้อ (Muscle Spasm or Guarding)
ประโยชน์
1. ทำให้เกิดการยืดออกของกระดูกสันหลัง
ส่งผลให้เกิดการแยกห่างของกระดูกสันหลังแต่ละข้อ โดยมีผลให้เกิดการขยายทางเดินของรากประสาท ลดการกดทับของรากประสาทได้ในกรณีที่มีภาวะกระดูกสันหลังกดทับรากประสาท หรือให้เกิดการดันกลับของหมอนรองกระดูกสันหลังที่ปลิ้นออกมา
2. ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวระหว่างข้อต่อของกระดูกสันหลัง (Facet joint)
ส่งผลให้เกิดการเลื่อน (Sliding) การยืดออก (Distraction) หรือการกด (Compression) ของผิวข้อต่อ Facet ซึ่งขึ้นอยู่กับการจัดท่าทางของผู้ป่วยขณะทำการดึงกระดูกสันหลัง
3. ทำให้ลดความเจ็บปวด
ส่งผลในเรื่องการเพิ่มการไหลเวียนเลือดในบริเวณที่มีการอักเสบ ช่วยกำจัดของเสียที่เกิดจากการบาดเจ็บของเซลล์ ทำให้การบวมลดลงและเกิดแรงกดต่อเนื้อเยื่อบริเวณนั้นลดลง
กระตุ้นเส้นประสาทการรับความรู้ภายในข้อต่อ (Articular Mechanoreceptor) ซึ่งมีผลไปยับยั้งเส้นประสาทรับความเจ็บปวด
ข้อห้าม
1. ในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามไม่ให้กระดูกสันหลังเคลื่อนไหว
2. ในกรณีที่มีการบาดเจ็บ (Strain or Sprain) หรือการอักเสบเฉียบพลัน
3. ในข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหวมากเกินปกติ (Hypermobility)
4. ในผู้ป่วยที่เป็น Rheumatoid Arthritis ของกระดูกสันหลังส่วนคอ เพราะอาจมีการเสื่อมของเอ็นที่ช่วยพยุงให้เกิดความมั่นคง เนื่องจากการดึงอาจทำให้เกิดภาวะไม่มั่นคง (Subluxation or Dislocation) ของกระดูกสันหลังได้ อาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อไขสันหลัง
ข้อควรระวัง
1. ในผู้ป่วยที่มีความเจ็บปวดที่ข้อต่อขากรรไกร ให้เลือกใช้วิธีการดึงด้วยมือ
2. ในผู้ป่วยที่ใช้ฟันปลอม ไม่ควรถอดออก เพราะว่าข้อต่อขากรรไกรอาจถูกแรงกดผิดไปจากตำแหน่งปกติ ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้
3.ในผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบหายใจ หรือผู้ป่วยที่มีความกลัวสถานที่คับแคบ