Mobilization
การให้แรงด้วยอัตราเร็วน้อยและมีช่วงกดที่ยาวลึกลงต่อกระดูกสันหลังและข้อต่อในช่วงการเคลื่อนไหวปกติ (McKenzie 1989) โดยทำซ้ำย้ำตรงจุดที่มีการจำกัดการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นของข้อต่อ กล่าวคือ “เป็นการเคลื่อนไหวแบบนุ่มนวลเป็นจังหวะซ้ำๆในช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อบริเวณนั้นๆ”
กลไกและประโยชน์
1. ทำให้เกิดความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อบริเวณรอบข้อต่อ เกิดการทำลายการยึดเกาะของเนื้อเยื่อที่ยืดหยุ่นได้น้อยให้เกิดการจัดเรียงตัวใหม่ เป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นของโครงสร้างที่ถูกยืด
2. กระตุ้นการทำงานของเซลล์เพื่อเพิ่มอัตราการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อ
3. ทำให้เกิดความร้อนภายในเนื้อเยื่อ ส่งผลให้เนื้อเยื่อมีความอ่อนนุ่มมากขึ้น ซึ่งช่วยทำให้นักกายภาพบำบัดสามารถยืดเนื้อเยื่อในเทคนิคอื่นๆหลังการทำ Mobilization ได้ง่ายขึ้น
4. ลดความเจ็บปวดของข้อต่อเนื่องจากการผ่อนคลายความเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
ข้อบ่งชี้
1. มีความเจ็บปวดของข้อต่อ
2. ภาวะข้อต่อติดขัด
ข้อห้าม
1. เนื้องอกกระดูก
2. ภาวะติดเชื้อหรืออักเสบ เนื่องจากมักจะส่งผลต่อเอ็นยึดกระดูก ทำให้เกิดการเคลื่อนของข้อต่อได้ง่าย
3. อาการที่บ่งชี้ถึงภาวะที่ไขสันหลังถูกกดทับ
4. ข้อต่อไม่มั่นคง
ข้อควรระวังเป็นอย่างมาก
1. อาการบ่งชี้ว่าการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดแดง Vertebro-basillar ถูกขัดขวาง
2. กระดูกเคลื่อน
3. ผู้ที่มีประวัติการใช้ยาละลายลิ่มเลือด
4. ผู้ที่มีภาวะกระดูกบาง
5. ผู้ที่มีความกังวล ไม่ผ่อนคลาย
6. ตรวจพบว่าช่องทางเดินรากประสาทเล็กลงชัดเจน
7. หมอนรองกระดูกเลื่อนหลุดอย่างรุนแรง
ข้อควรระวัง
1. หญิงตั้งครรภ์
2.ภาวะข้อต่อเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ